กฎหมายที่ประชาชนควรรู้


1.ความหมายของกฎหมาย
กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม



มนุษย์ถือได้ว่าเป็นสัตว์สังคมจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากความคิด อุปนิสัย สภาพแวดล้อม เพศ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย กฎหมายบางอย่างก็กำหนดขึ้นเป็นขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนในสังคมปฏิบัติตามในแนวทางเดียวกัน ก็จะสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญของสังคม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้เมื่อคิดย้อนกลับไปแล้ว ก็จะมาจากคนในสังคมนั่นเอง

2.ความสำคัญของกฎหมาย

1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม



2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย


3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม


4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น


3.ลักษณะสำคัญของกฎหมาย

1. กฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ กล่าวคือ ต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐาน ใช้วัดและกำหนดความประพฤติของสมาชิกในสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือไม่ได้เป็นต้น เช่น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ประชาชนสวมใส่ชุดดำเนื่องในการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่เป็นกฎหมาย เพราะไม่ใช่ข้อกำหนดที่บ่งบอกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ไม่อาจวัดเป็นมาตรฐานได้ว่าการแต่งชุดดำเช่นนั้นแล้วเป็นการถูกกฎหมาย การไม่แต่งผิดกฎหมาย และที่สำคัญ ประกาศนั้นเป็นแต่การเชิญชวน มิได้เป็นการบังคับ เป็นต้น


2. กฎหมายกำหนดความประพฤติของบุคคล กล่าวคือ กฎหมายควบคุมแต่ความประพฤติของบุคคลเท่านั้น มิได้ก้าวล่วงเข้าไปถึงจิตใจ จึงอาจกล่าวได้ว่าศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีควบคุมมนุษย์ได้ลึกซึ้งยิ่งกว่ากฎหมาย และกฎหมายนั้นหยาบกว่าสิ่งเช่นว่า ทั้งนี้ ความประพฤติที่จะถูกควบคุมมีองค์ประกอบ ได้แก่ 1) มีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย และ 2) การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวเช่นนั้นอยู่ภายในความควบคุมของจิตใจ กล่าวอีกชั้นคือ บุคคลรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่


3. กฎหมายมีสภาพบังคับ สภาพบังคับ (: sanction) ของกฎหมายนั้นมีทั้งที่เป็นผลร้าย เช่น โทษทางอาญา และผลดี เช่น การลดภาษีเงินได้


สำหรับสภาพบังคับที่เป็นผลดีนั้น ในความจริงแล้วมนุษย์มิใช่จะปฏิบัติตามกฎหมายเพราะเกรงจะได้รับผลร้ายเท่านั้น แต่อาจเพราะมีแรงจูงใจด้วย เช่น บทบัญญัติในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ว่า "ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการ..." เป็นต้น


4. กฎหมายมีกระบวนการอันเป็นกิจจะลักษณะ ในอดีต สำหรับการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายบางทีก็ใช้ระบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่สังคมสมัยใหม่ซึ่งมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ กล่าวคือ รัฐออกกฎหมายและรัฐเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐสมัยใหม่จะไม่ยอมให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยประชาชนเลย เพราะจะทำให้คนที่แข็งแรงกว่ากระทำเกินเลยต่อคนที่อ่อนแอกว่าได้ กับทั้งจะเกิดความวุ่นวายประการอื่น ๆ

4.ประเภทกฎหมาย



การแบ่งแยกประเภทของกฎหมาย กฎหมายแบ่งแยกตามข้อความของกฎหมายได้เป็น 3 ประเภท
(1) กฎหมายมหาชน (Public Law)
(2) กฎหมายเอกชน (Private Law)
(3) กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)


1. กฎหมายมหาชน (Public Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร แบ่งแยกสาขากฎหมายมหาชนได้ ดังนี้


(1) รัฐธรรมนูญ
(2) กฎหมายปกครอง
(3) กฎหมายอาญา
(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา
(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง


(1) รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนั้น ๆ ต่อกันและกัน ลักษณะทั่วไปคือ
ก. กำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุด อำนาจอธิปไตย ใครเป็นเจ้าของ (มาตรา 3 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้)

ข. รัฐธรรมนูญต้องมีข้อความกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการต่อกันและกัน


(2) กฎหมายปกครอง ได้แก่กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นลง
จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยอำนาจการปกครองประเทศแต่กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปกครอง ซึ่งในกฎหมายนี้จะกล่าวถึงการจัดระเบียบแห่งองค์การปกครอง (เช่น จัดแบ่งออกเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือ เทศบาล สุขาภิบาล ฯลฯ ความเกี่ยวพันระหว่างองค์การเหล่านี้ต่อกันและกัน และความเกี่ยวกับระหว่างองค์การเหล่านี้กับราษฎร) กฎหมายปกครองไม่ได้รวบรวมขึ้นในรูปของประมวลกฎหมาย กฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในสาขากฎหมายปกครองเป็นจำนวนมาก อาทิ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พระราชบัญญัติจัดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชบัญญัติเทศบาล พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล


(3) กฎหมายอาญา ได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงความผิดและโทษ แยกพิจารณาได้ดังนี้
การบัญญัติความผิด หมายความว่า การบัญญัติว่าการกระทำและการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญา
การบัญญัติโทษ หมายความว่า เมื่อใดบัญญัติว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดแล้ว ก็ต้องบัญญัติโทษอาญาสำหรับความผิดนั้นไว้ด้วย
ประมวลกฎหมายอาญาแบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ภาค 2 ความผิด ภาค 3 ลหุโทษ ภาค 1 ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้นำไปใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นได้ด้วย



5.ศักดิ์ของกฎหมาย



ศักดิ์ของกฎหมาย (อังกฤษ: hierachy of law) คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมาย
การจัดศักดิ์ของกฎหมายมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย เช่น หากกฎหมายฉบับใดมีลำดับชั้นของกฎหมายสูงกว่า กฎหมายฉบับอื่นที่อยู่ในลำดับต่ำกว่าจะมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับกฎหมายสูงกว่านั้นมิได้ และอาจถูกยกเลิกไปโดยปริยาย


เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมาย


เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายได้แก่ การพิจารณาจากผู้ตรากฎหมายฉบับนั้น ๆ ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ


สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยผู้แทนของปวงชนคือรัฐสภา เป็นการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันใช้อำนาจสูงสุดแห่งรัฐในการออกกฎหมาย จึงให้มีศักดิ์สูงสุด ส่วนที่มีศักดิ์รองลงมาได้แก่ พระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด ซึ่งได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงผ่านไปยังวุฒิสภา เป็นการแยกกันใช้อำนาจ


ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย


ว่ากันแต่ประเทศไทยในปัจจุบัน มีทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากฎหมายส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในรูปลายลักษณ์อักษรมากที่สุด


 กฎหมายที่เป็นลายลักษ์อักษร


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนรับรองและส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลย


มักมีผู้เรียก "รัฐธรรมนูญ" ว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" พึงทราบว่า "กฎหมายรัฐธรรมูญ" (อังกฤษ: constitutional law) นั้นเป็นคำเรียกสาขาวิชาทางนิติศาสตร์และเรียกกฎหมายมหาชนแขนงหนึ่งซึ่งว่าด้วยการวางระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง ส่วน "รัฐธรรมนูญ" (อังกฤษ: Constitution) นั้นคือกฎหมายจริง ๆ ฉบับหนึ่งซึ่งจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง


กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายชนิดนี้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติในประเทศไทย และมีศักดิ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติแต่มีวิธีการตราที่พิสดารกว่าพระราชบัญญัติเนื่องเพราะเป็นกฎหมายที่อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ


พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกฎหมายที่ถือได้ว่าคลอดออกมาจากท้องของรัฐธรรมนูญโดยตรง องค์กรที่มีหน้าที่ตรากฎหมายสองประเภทนี้ได้แก่รัฐสภา


พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประการใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสุดสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดาการที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น


พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด เปรียบเสมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่อธิบายขยายความในรัฐธรรมนูญ


กฎองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นและใช้บังคับภายในเขตอำนาจของตน ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา เนื่องจากอำนาจในการตรากฎหมายประเภทนี้ได้รับมาจากพระราชบัญญัติ โดยทั่วไปจึงถือว่ากฎองค์การบัญญัติมีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ[43> ชั่วแต่ว่าใช้บังคับภายในเขตใดเขตหนึ่งเป็นการทั่วไปเท่านั้น


กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกาเพราะศักดิ์ของผู้ตราต่างกัน


รองศาสตราจารย์ทัชชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า "เมื่อพระราชกฤษฎีกากับกฎกระทรวงมีความใกล้เคียงกันมาก ข้อที่พิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างกันว่าควรจะออกกฎหมายในรูปพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อหาของกฎหมายที่ต้องการบัญญัตินั้นมีความสำคัญเพียงใด ซึ่งหากมีความสำคัญเป็นอย่างมากจะออกมาในรูปของพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีความสำคัญน้อยกว่าก็ออกในรูปของกฎกระทรวง


 ผลการจัดศักดิ์ของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร


1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าหรือตามที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้


2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายศักดิ์สูงกว่า จะออกมาโดยมีเนื้อหาเกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้เลย


3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่านั้น

คลิกทำข้อสอบได้ที่นี่http://www.exam.in.th/subject_list.php?u=